แอปพลิเคชัน เช็คน้ำ รู้เร็ว รู้ทัน ด้วยเทคโนโลยีจากอวกาศ

แอปพลิเคชัน “เช็คน้ำ” รู้เร็ว รู้ทัน ด้วยเทคโนโลยีจากอวกาศ

 แอปพลิเคชัน “เช็คน้ำ” ได้ปรับโฉมการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมเพื่อลดขั้นตอนที่ยุ่งยากและต้องการให้เกิดคุณค่ากับผู้ใช้งานได้มากและรวดเร็วที่สุด ระบบได้เชื่อมต่อและรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากหลากหลายแหล่ง ส่วนหนึ่งจัดแสดงบนแอปพลิเคชันและอีกส่วนเก็บเป็นฐานข้อมูลเพื่อใช้การวิเคราะห์คาดการณ์พื้นที่น้ำท่วมด้วยระบบหลังบ้าน เช่น ข้อมูลกลุ่มเมฆฝน ข้อมูลพื้นที่น้ำท่วมทั้งประเทศทั้งแบบปัจจุบันและย้อนหลังไป 10 ปี ข้อมูลความสูงระดับน้ำ ณ ปัจจุบันจากสถานีตรวจวัดระดับน้ำ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ได้รับผลการวิเคราะห์พื้นเสี่ยงภัยน้ำท่วมแบบเรียลไทม์แค่เพียงปลายนิ้วคลิกที่เมนูคาดการณ์ในแอปพลิเคชัน

การออกแบบระบบของแอปพลิเคชัน “เช็คน้ำ” ที่ใช้ข้อมูลที่ใกล้เคียงเวลาจริง (Near-Realtime) มาวิเคราะห์และเชื่อมต่อโดยตรงกับฐานข้อมูลทำให้ข้อมูลฟีตเข้าสู่โมเดลการวิเคราะห์อย่างต่อเนื่อง เช่น สถานะของระดับน้ำของน้ำในแม่น้ำที่เชื่อมต่อกับฐานข้อมูลของสถานีตรวจวัดระดับน้ำจากหน่วยงานภาครัฐต่างๆ โดยมีรอบการอัพเดททุกๆ 10 นาที ข้อมูลกลุ่มเมฆฝน เชื่อมต่อโดยตรงกับฐานข้อมูลดาวเทียม GSMap ดาวเทียมสัญชาติญี่ปุ่น ที่อัพเดททุกๆ 30-45 นาที และข้อมูลสภาพการจราจรจาก ITIC ซึ่งเป็นแผนที่ Base Map จาก Sphere ที่ถูกพัฒนาโดย GISTDA ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมข้อมูลด้านภูมิสารสนเทศไว้ในที่เดียวกัน เป็นต้น

ข้อมูลที่อัพเดทเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากสำหรับการวิเคราะห์หาพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมแบบเรียลไทม์ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากอุทกภัยได้ทันเวลา เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อมีปัจจัยสนับสนุน โดยเฉพาะปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมามากกว่าปกติและปริมาณน้ำในพื้นที่ลุ่มที่สะสมมาอย่างต่อเนื่อง แอปพลิเคชัน “เช็คน้ำ” จึงผสมผสานการวิเคราะห์ร่วมกันระหว่างข้อมูลจากทั้งเทคโนโลยีอวกาศและเซนเซอร์จากพื้นดิน ประกอบกับการสนับสนุนจากเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทำให้ผู้ใช้จะได้รับข้อมูลที่ครอบคลุมและทันสมัยอยู่ตลอดเวลา

ด้วยความสามารถของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้แอปพลิเคชัน “เช็คน้ำ” สามารถระบุตำแหน่งของมือถือของผู้ใช้งานได้อย่างง่ายดาย แสดงด้วยสัญลักษณ์เป็นจุดสีฟ้าบนแผนที่ในแอปพลิเคชัน ซึ่งตำแหน่งนี้จะมีความสำคัญอย่างมากในเชิงการสร้างการรับรู้ถึงผลกระทบที่จะมาถึงจากน้ำท่วมได้อย่างรวดเร็ว โดยเมื่อจุดสีฟ้าหรือตำแหน่งของผู้ใช้ปรากฏอยู่ท่ามกลางพื้นที่สีแดงหรือพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมในไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า ผู้ใช้จะทำความเข้าใจได้ไม่ยากและจะเกิดการป้องกันได้อย่างทันท่วงที ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสามารถตรวจสอบได้ที่เมนูคาดการณ์

ในแต่ละเมนูของแอปพลิเคชัน “เช็คน้ำ” จะให้ข้อมูลที่หลากหลายและแตกต่างกันออกไป ซึ่งแต่ละเมนูก็จะมีประโยชน์ต่อกลุ่มผู้ใช้งานที่แตกต่างกันด้วย นี่เป็นสิ่งที่นักพัฒนาได้ออกแบบและตั้งใจไว้เพื่อให้แอปพลิเคชันเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มคนที่หลากหลาย โดยจะสามารถแบ่งกลุ่มผู้ใช้ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

.

กลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป : กลุ่มนี้ถือเป็นผู้ใช้งานหลัก มีความต้องการข้อมูลที่พร้อมใช้ ไม่ซับซ้อนจนเกินไป มีคำถามก่อนการใช้งานที่ไม่ซับซ้อน อาทิ ปัจจุบันน้ำท่วมพื้นที่ไหน ฝนตกกำลังตกหนักที่ไหนบ้าง พื้นที่ไหนควรต้องระวังเรื่องน้ำล้นตลิ่ง ถนนเส้นไหนกำลังถูกน้ำท่วม เป็นต้น ซึ่งสามารถหาคำตอบได้จากเมนูดังต่อไปนี้ “เมนูน้ำท่วม” ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่น้ำท่วมปัจจุบัน พื้นที่เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง พื้นที่กำลังประสบปัญหาน้ำท่วม และข้อมูลการจราจรแบบเรียลไทม์ ต่อไป “เมนูกลุ่มฝน” ให้ข้อมูลพื้นที่ที่กำลังเกิดฝนตก และสุดท้าย “เมนูคาดการณ์” ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมแบบเรียลไทม์ เมนูเหล่านี้เป็นเมนูที่ออกแบบมาเพื่อรองรับผู้ใช้กลุ่มนี้ที่ให้ข้อมูลแบบตรงไปตรงมา

.

กลุ่มเจ้าหน้าที่ที่ดูแลในพื้นที่ : กลุ่มนี้จะมีหน้าที่เฉพาะด้านคือการเฝ้าระวังเหตุฉุกเฉินจากน้ำท่วม ซึ่งมีความคุ้นเคยกับพื้นที่ดีระดับหนึ่ง นอกเหนือจากจะใช้ประโยชน์จากเมนูทั้ง 3 เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไปแล้ว โดยเฉพาะ “เมนูคาดการณ์” ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่เสี่ยงจะเกิดน้ำท่วมแบบเรียลไทม์นั้น เมื่อผสมผสานกับความคุ้นเคยพื้นที่ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก เพราะจะทำให้มีการแจ้งเตือนภัยได้ทันท่วงทีและเข้าถึงกลุ่มคนในพื้นที่ได้มากและรวดเร็ว

 “เมนู 2554” ที่ผู้ใช้ต้องอาศัยทักษะการตีความแผนที่เพื่อให้ทราบถึงความเป็นไปได้ของขอบเขตพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ หากปริมาณน้ำท่วมสะสมบนผิวดินนั้นมากถึงขั้นใกล้เคียงกับปริมาณน้ำท่วมในปี พ.ศ. 2554 ซึ่งข้อมูลพื้นที่น้ำท่วมสะสมตลอดปี 2554 นี้จะช่วยเป็นข้อมูลอ้างอิงได้เป็นอย่างดีเกี่ยวกับพื้นที่ที่มีโอกาสน้ำท่วม

การลดความเสียหายหรือความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินจากน้ำท่วมนั้น คือหัวใจหรือวัตถุประสงค์หลักของการพัฒนาแอปพลิเคชัน “เช็คน้ำ” เพื่อประชาชนคนไทย เพราะสำหรับผู้คนที่ปลูกบ้านสร้างเรือนในเขตพื้นที่ลุ่มต่ำหรือพื้นที่ที่น้ำท่วมเป็นประจำทุกปี จะรู้กันดีอยู่แล้วว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะแก้ปัญหาน้ำท่วมได้อย่างเบ็ดเสร็จ ในแต่ละปีเราก็มักจะได้ยินเสียงจากชาวบ้านบอกว่าหากมีการแจ้งเตือนล่วงหน้าสักหน่อยก็จะสามารถเก็บข้าวของหนีน้ำได้ทัน จนกลายเป็นเรื่องที่เราคุ้นหูกันในแต่ละปีที่ผ่านมา

ในขณะที่การแก้ปัญหาน้ำท่วมจะยังดำเนินต่อไป แม้ในบางพื้นที่อาจจะไม่สามารถแก้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่เราสามารถช่วยกันป้องกันหรือลดความสูญเสียได้ด้วยการแจ้งเตือนล่วงหน้าจากแอปพลิเคชัน “เช็คน้ำ” ที่นำข้อมูลจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ประกอบกับการวิเคราะห์ร่วมกันระหว่างเทคโนโลยีอวกาศหรือภาพถ่ายดาวเทียม และเซนเซอร์ตรวจวัดระดับน้ำในแม่น้ำจากหน่วยงานต่างๆ อีกทั้งยังมีการเปรียบเทียบกับค่าสถิติในอดีต เช่น ข้อมูลพื้นที่น้ำท่วมและข้อมูลน้ำล้นตลิ่งย้อนหลัง 10 ปี เป็นต้น ทำให้แอปพลิเคชัน “เช็คน้ำ” สามารถช่วยสนับสนุนในส่วนการเตือนภัยน้ำท่วมล่วงหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดความเสียหายของพี่น้องประชาชน

สามารถโหลดได้ทั้ง IOS และ Android 

#จิสด้าก้าวสู่ปีที่23 #จิสด้า #GISTDA #เช็คน้ำ #นวัตกรรม #อวกาศ #ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม #พร้อมใช้ #พื้นที่น้ำท่วม #พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม #น้ำล้นตลิ่ง #เตือนภัยน้ำท่วม


image รูปภาพ
image
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar