โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เดินหน้าภารกิจ Sky Doctor

โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เดินหน้าช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินในพื้นที่ห่างไกล มุ่งลดระยะเวลารับส่งผู้ป่วยภาวะวิกฤต ด้วย Sky Doctor ขณะที่ผลการดำเนินการที่ผ่านมา สามารถช่วยผู้ป่วยฯ ในพื้นที่รับผิดชอบทั่วภาคเหนือแล้วกว่า 500 ราย เป็นสถิติสูงที่สุดในประเทศ
         รองศาสตราจารย์ นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เปิดเผยว่า พื้นที่ทางภาคเหนือส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นภูเขาสูง ทำให้การเดินทางระหว่างอำเภอหรือระหว่างจังหวัดค่อนข้างยากลำบาก ต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทางมากกว่าเส้นทางปกติ เช่นเดียวกับกรณีการส่งต่อผู้ป่วยที่มีภาวะฉุกเฉินจากโรงพยาบาลที่มีศักยภาพไม่มากนักในพื้นที่ห่างไกล มาสู่โรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่าในตัวเมืองมักจะประสบปัญหา ส่งผลให้ผู้ป่วยบางรายไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที มีโอกาสเกิดภาวะวิกฤต เกิดความพิการ หรือบางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ด้วยเหตุนี้ จึงมีการนำอากาศยานมาใช้เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินในพื้นที่ห่างไกลดังกล่าว ภายใต้โครงการ “Sky Doctor” ซึ่งจากการใช้อากาศยานรับส่งผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล สามารถช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางได้มาก จากปกติ 5 ชั่วโมง จะเหลือเพียงประมาณ 45 นาที - 1 ชั่วโมง เท่านั้น
         ด้าน นายแพทย์บุญฤทธิ์ คำทิพย์ อาจารย์พิเศษภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภารกิจการทำงานของ Sky Doctor แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ 1.การส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาล จากโรงพยาบาลที่มีศักยภาพดูแลรักษาเบื้องต้น ส่งไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า อาทิ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลนครพิงค์ โรงพยาบาลประสาท 2.การใช้อากาศยาน (เฮลิคอปเตอร์) ไปรับผู้ป่วยถึงในพื้นที่ห่างไกลโดยตรง ซึ่งกลุ่มผู้ป่วยที่อยู่ในเกณฑ์จะได้รับความช่วยเหลือ ได้แก่ ผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลที่ต้องการได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนทันท่วงที หรือมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียอวัยวะ หรือเสียชีวิต เป็นต้น
         ทั้งนี้ ในเขตสุขภาพที่ 1 ซึ่งรับผิดชอบดูแลพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และลำปาง เป็นพื้นที่ที่มีการใช้บริการ Sky Doctor สูงที่สุดในประเทศ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มโรคหลอดเลือดหัวใจ รองลงมาเป็นผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุ โรคหลอดเลือดสมอง และเด็กแรกเกิดที่มีความจำเป็นต้องส่งตัวมารักษาที่ ICU โดยการดำเนินโครงการตลอด 13 ปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยไปแล้วกว่า 500 ราย นับเป็นสถิติที่สูงที่สุดในประเทศไทย

พิมลกัลย์  เดชะชัย สวท. เชียงใหม่ ///// 27 เม.ย. 67
 


image รูปภาพ
image
image
image
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar